วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

“ขาโถกเถก” การละเล่นไทยที่แฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ขาโถกเถก” การละเล่นไทยที่แฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น

การละเล่น “ขาโถกเถก หรือ ไม้โถกเถก” สีสันหนึ่งในงานแถลงข่าวการจัดงานฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเตรียมจัดขึ้นภายใต้แนวคิด“วัฒนธรรมนำไทย” ในเดือนเมษายนนี้

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี
ภาพ : อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์
                        คำว่า “ขาโถกเถก” คือการละเล่นพื้นบ้าน หรือกีฬาพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมเล่นกันมากในจังหวัดสกลนคร ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา สันนิษฐานว่าเป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีการเล่นกันมานานแล้ว โดยการเลียนแบบการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของคนภาคอีสาน ในสมัยโบราณคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ ไว้ใต้ถุนบ้าน ปะปนอยู่บนดิน พอฝนตกก็เฉอะแฉะเป็นที่น่ารังเกียจ ประกอบกับบางครั้งจะมีสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ แมลงป่อง หรืองูพิษ ตามพื้นดิน คนไทยในสมัยโบราณจึงใช้ไม้ต่อขาสูง เพื่อใช้เดินผ่านไป และต่อมาจึงนำมาเล่นเป็นการละเล่นพื้นบ้านสร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน (ข้อมูลจาก www.thaiyuwie.com)
                         การละเล่นขาโถกเถกนี้ มีคนที่มีใจรักจนตั้งเป็นชมรมกีฬาขาโถกเถกแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  1 มิถุนายน  2551 โดยนายสุรศิลป์ พลธุมาร  และรวบรวมสมาชิกที่มีใจรักกีฬาขาโถกเถก และรักความเป็นไทยกว่า  100 คน แล้วจัดการแข่งขันครั้งแรกในวันที่ 13  มิถุนายน  2551   ณ ไร่ไลฟ์สไตล์ โฮมเตย  ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งชมรม และยังเป็นสถานที่ฝึกกีฬาขาโถกเถก นอกจากนี้ยังมีการนำการละเล่นนี้ไปแสดงในงานประเพณีต่างๆด้วย นี่ก็เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกทางหนึ่ง
                         เมื่อทราบถึงความเป็นมาคร่าวๆของการละเล่นชนิดนี้แล้ว ต่อไปเรามาเรียนรู้การทำอุปกรณ์ขาโถกเถก วิธีการเล่น และประโยชน์ที่จะได้รับกันนะคะ
                           อุปกรณ์ขาโถกเถก ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 2-3 เมตร  จำนวน 2 ท่อน  จากนั้นเจาะรูเพื่อทำขาสำหรับวางเท้าหรือแขนงที่ติดมากับกิ่งของไม้ไผ่ ให้สามารถขึ้นไปยืนแล้วเดินได้ โดยจะมีความสูงตามต้องการที่เหมาะกับความสามารถในการทรงตัวของผู้เล่น  การเจาะรูนั้นต้องตรงกันกับไม้ทั้ง  2  และทำให้แข็งแรงมั่นคง           
                          ส่วนวิธีการเล่นนั้น  ก็มีทั้งการขึ้นไปบืนบนขาโถกเถก แล้วเดินแข่งกันเข้าเส้นชัย หรือเต้นประกอบเพลงบนขาโถเถก โดยห้ามตกลงมา  ซึ่งนอกจากความสนุกสนานแล้ว ยังเสริมสร้างความสามัคคี และเป็นการออกกำลังกาย  ที่สำคัญคือผู้เล่นจะได้รับการนวดฝ่าเท้าในตัวจากการเหยียบแขนงของกิ่งไม้ไผ่ และเป็นการละเล่นที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเงินซื้อของเล่นให้ลูกหลาน
                         ซึ่งทางกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับชมรมกีฬาขาโถกเถกแห่งประเทศไทย นำมาแสดงสาธิตให้ชมก่อนถึงงานวันจริง 20-22 เมษายน 2556 ณ ท้องสนามหลวง โดยในวันที่ 21 เมษายน จะมีการทำบุญเมือง เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) ที่พระราชทานเสาหลักเมืองเมื่อ 231 ปีก่อน เป็นการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ของราชอาณาจักรไทย
                        ท่านสามารถเข้าชมการละเล่นขาโถกเถก ซึ่งเป็นสีสันหนึ่งในนิทรรศการ “มหานครอมรรัตนโกสินทร์”ระหว่างวันที่ 20-22 เมษายน 2556 ตั้งแต่เวลา 10:00 น.ไปจนถึงค่ำ เดินลัดเลาะร่วมกิจกรรมได้ตลอดแนวสนามหลวงฝั่งกรมศิลปากร ไปจนถึงสวนสันติไชยปราการ   โดยจะมีทั้งการฉายภาพยนตร์เก่า การแสดงโขน ละครนอก และการละเล่นขาโถกเถก รวมไปถึงการสาธิตศิลปะร่วมสมัย ช่างสิบหมู่ ขนมไทยมงคล และขนมไทยโบราณ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะ อย่าลืม อย่าพลาด งานดีๆที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  จัดขึ้นเพื่อย้อนระลึกถึงความเป็นไทยกันนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องขาโถกเถกจาก : ชมรมกีฬาขาโถกเถกแห่งประเทศไทย
- See more at: http://www.saisawankhayanying.com/s-report/thokthek-thailand/#sthash.0Q6KfAQP.dpuf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น